ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับเอลนีโญ คือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออกมีค่าต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้เนื่องจากลมค้า (trade wind) ตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดอยู่เป็นประจำในแปซิฟิกเขตร้อนทางซีกโลกใต้ (ละติจูด 0.03 องศาใต้) มีกำลังแรงกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก (บริเวณฝั่งเอกวาดอร์ เปรู และชิลีตอนเหนือ) ไปสะสมอยู่ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตก (บริเวณชายฝั่งอินโดนีเซียและออสเตรเลีย) มากยิ่งขึ้น จึงทำให้ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตกซึ่งแต่เดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกอยู่แล้ว กลับยิ่งมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกมากยิ่งขึ้นไปอีก มีผลทำให้ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันตกมีปริมาณฝนมากขึ้น ขณะที่ทางแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกจะมีความแห้งแล้งรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน ปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดโดยเฉลี่ย 5 – 6 ปี ต่อครั้ง และแต่ละครั้งกินเวลานานประมาณ 1 ปี
บริเวณที่มีผลกระทบทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลียตอนเหนือ ฟิลิปปินส์ อินเดียตอนเหนือ ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา และด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ส่วนบริเวณที่มีผลกระทบแต่ทำให้มีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ ได้แก่ ประเทศชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา บราซิลตอนใต้ ถึงตอนกลางของประเทศอาร์เจน-ตินา
สำหรับประเทศไทยนั้น ผลกระทบขนาดรุนแรงที่มีต่อฝนและอุณหภูมิใน 3 ฤดู ฝ่ายวิชาการภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า
“ฤดูฝนปีที่เกิดลานีญา (มิ.ย. – ต.ค.) ฝนจะสูงกว่าปกติเว้นแต่ทางบริเวณของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติ
ฤดูหนาวปลายปีที่เกิด – ต้นปีหลังเกิดลานีญา (พ.ย. – ก.พ.) ทั่วประเทศจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ สำหรับฝนในฤดูหนาวของประเทศตอนบนมีอุณหภูมิในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติ เว้นแต่ตามบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกที่จะมีฝนสูงกว่าปกติ และฝนในภาคใต้ทั้ง 2 ฝั่งในครึ่งแรกของฤดู (พ.ย. – ธ.ค.) จะมีฝนสูงกว่าปรกติ แต่ฝนจะลดลงในครึ่งหลังของ
ฤดู (ม.ค. – ก.พ.) โดยอาจจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติ
ฤดูร้อนปีหลังเกิดลานีญา (มี.ค. – พ.ค.) ทั่วประเทศจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติทั่วประเทศ และจะมีฝนตกลงมาบ้าง อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปรกติทั่วประเทศซึ่งจะทำให้อากาศไม่ร้อนมาก”
Ref: ดร.สมบัติ เจริญวงศ์ จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 8 ฉบับที่ 86 ก.ค. 2541
เมื่อวิเคราะห์จากผลกระทบของการมาของลานีญาแล้วประเทศไทยจะมีฝนในปริมาณที่สูงกว่าปกติ และอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติ จากผลกระทบดังกล่าวนี้ เราลองมาพิจารณาทางด้านผลกระทบที่จะมีถึงสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินกันดูบ้าง เพื่อจะได้เตรียมการดูแลป้องกันให้แก่สัตว์ที่เราเลี้ยงครับ
ความสำคัญ และผลกระทบทางด้านอุณหภูมิ
สัตว์เลื้อยคลานมีด้วยกันทั้งหมด 6000 และ 4000 ชนิดสำหรับสัตว์สะเทิน บางชนิดเป็นสัตว์น้ำ บางชนิดอาศัยตามต้นไม้ หรือใต้ดิน และถูกพบอยู่ในสภาพแหล่งที่อยู่ทุกสภาพบนพื้นโลก
สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินเป็นสัตว์เลือดเย็น (ectotherms ) ซึ่งมีความแตกต่างจากสัตว์เลือดอุ่น (endotherms) ตรงที่อุณหภูมิของร่างกายจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมโดยรอบ และการปรับพฤติกรรมในขณะนั้น (Prered body temperature, PBT) กระบวนการทำงานของร่างกายในส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยจะทำงานได้ดีที่อุณหภูมิสูงมากกว่าอุณหภูมิต่ำ เช่น อัตราเมทาบอลิซึม การย่อยอาหาร การเจริญเติบโต ระบบหัวใจ และการไหลเวียนเลือด สมดุลน้ำ และกรดด่าง ระบบสืบพันธุ์ เนื่องจากการทำงานของเอนไซม์อยู่ภายใต้อิทธิพลของอุณหภูมิในการช่วยควบคุมเมตาบอลิซึม ซึ่งเป็นตัวสร้างพลังงานของเซลล์ สร้างโปรตีน และฮอร์โมน ช่วยในการแบ่งเซลล์สร้างเม็ดเลือดในไขกระดูก ซึงมีผลต่อภูมิคุ้มกันในร่างกาย และมีผลต่อพฤติกรรมการตื่นตัว เช่น การเคชื่อนไหว การล่าเหยื่อ ความอยากอาหาร ในกรณีที่อุณหภูมิต่ำ จะทำให้สัตว์กินน้อยลงหรือหยุดกิน เนื่องจากจะมีพฤติกรรมการกินและเอนไซม์การย่อยจะทำงานเมื่ออยูที่ PBT
ข้อได้เปรียบของสัตว์เลือดเย็นเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือ นก ที่มีขนาดเท่ากัน คือสัตว์เลือดเย็นจะมีอัตราการเผาผลาญพลังงาน และความต้องการพลังงานน้อยกว่า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานในการปรับอุณหภูมิของร่างกาย จึงมีผลทำให้มีความต้องการอาหารที่น้อยลงเช่นเดียวกัน
เนื่องจากมีอุณหภูมิแวดล้อมเป็นตัวกำหนดขบวนการเผาผลาญพลังงาน และพฤติกรรม ดังนั้นสัตว์เลือดเย็นจึงมีความจำเป็นที่ต้องกระตือรือร้นค้นหาอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการกิน ย่อยอาหาร จำศีล ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินเลือกปรับอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสมโดยการอาบแดด ขุดฝังตัว หลบซ่อนใต้ขอนไม้ใบไม้ หรือแช่น้ำ ตัวอย่างเช่น หลังจากงูกินอาหารจะย้ายไปอยู่ใกล้แหล่งความร้อนเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร และพวกย้ายไปยังพื้นที่เย็นเพื่อขับถ่าย
จะเห็นได้ว่าสัตว์เลือดเย็นจะมีการตอบสนองกับสภาพแวดล้อมมากกว่าสัตว์เลือดอุ่น และในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าสัตว์เลือดเย็นมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหามากกว่ากับการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ และดูแลเป็นพิเศษสำหรับการจัดการที่อยู่อาศัยของพวกเขาเพื่อป้องกันการสร้างความเครียดให้แก่ตัวสัตว์
ความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดทางความร้อนของแต่ละชนิดพันธุ์ เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญต่อการดูแลที่เหมาะสม ควรมีการสังเกตุพฤติกรรมสัตว์เป็นประจำอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าอุณหภูมิในที่เลี้ยงเหมาะสมกับความต้องการของพวกเขา ถ้าสัตว์อยู่ภายใต้แหล่งความร้อนตลอดเวลาแสดงว่าอุณหภูมิต่ำเกินไป และเช่นเดียวกันถ้าสัตว์อยู่ห่างจากแหล่งความร้อนแสดงว่าอุณหภูมิอบอุ่นเกินไปเช่นเดียวกัน
ความสำคัญ และผลกระทบทางด้านความชื้น
แต่ละชนิดพันธุ์มีความต้องการความชื้นและน้ำที่แตกต่างกัน การควรควบคุมการเปลี่ยนแปลงของความชื้นในอากาศจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน เนื่องจากความชื้นมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิ และการไหลเวียนของอากาศ โดยความชื้นจะสูงขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงและการไหลเวียนของอากาศต่ำ
สัตว์สะเทินน้ำและสัตว์สะเทินเป็นสัตว์เลือดเย็น ectotherms อัตราการเผาผลาญอาหารจะต่ำเช่นเดียวกับอัตราของการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ปัสสาวะ และอุจจาระ
ดังนั้นอัตราการไหลเวียนของอากาศสูงเพื่อการไหลเวียนออกซิเจนในอากาศ และไล่กลิ่นนั้น ไม่มีความจำเป็นสำหรับในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ อัตราการไหลของอากาศหนึ่งหรือสองต่อชั่วโมงย่อมเพียงพอแล้ว
สัตว์เลื้อยคลานในป่าฝนเขตร้อนต้องการใช้อุณหภูมิช่วงกลาง และมีความชื้นสูง ปัจจัยทั้งสองตัวแปรจะต้องมีการควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและถูกตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และในทางตรงกันข้ามสัตว์เลื้อยคลานในทะเลทรายต้องใช้อุณหภูมิสูง แต่ความชื้นต่ำ ต้องการพื้นที่อาบแดดที่มีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ
นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดที่ต้องการอุณหภูมิและความชื้นอยู่ระหว่างกลางของสัตว์สองประเภทข้างต้น เช่น ต้องการอุณหภูมิต่ำ แต่ต้องการความชื้นสูงกว่าสัตว์ทะเลทราย หรือ ต้องการอุณหภูมิต่ำและความชื้นต่ำ เป็นต้น
ความชื้นที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้สัตว์เกิดโรคได้หลายชนิด เช่นในกรณีที่ความชื้นต่ำเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ส่งผลให้กรดยูริกในกระแสเลือดเข้มข้นขึ้น โน้มนำการเกิดโรคเกาต์หรือโรคไตวายเรื้อรัง (chronic renal failure) และการแตกของผิวหนังได้ ส่วนในกรณีที่ความชื้นสูงเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะผิวหนังอักเสบจากแบคทีเรียและเชื้อราได้
แนวโน้มและผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์สะเทินและสัตว์เลื้อยคลาน
ผลกระทบจากลานีญาในบ้านเรา “ฝนมากความชื้นสูง หนาวมาก หนาวนาน” สัตว์เลื้อยคลานที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทะเลทรายน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและมากที่สุด อุณหภูมิและความชื้นที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้
สภาพภูมิอากาศในบ้านเราซึ่งเป็นป่าฝนเขตร้อนชื้นไม่มีความเหมาะสมกับสัตว์ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยจากทะเลทรายอยู่แล้ว ความชื้นสูงอาจส่งผลต่อปอดและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่นหวัด การลดลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิที่ต่ำเกินกว่าระดับที่เหมาะสมทำให้ขบวนการเผาผลาญพลังงานลดลง สัตว์กินน้อยลงหรือหยุดกิน ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลงและมีโอกาศป่วยได้ง่ายขึ้น กระทบต่อการเจริญเติบโตตามมา
ส่วนในสัตว์ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในเขตร้อนชื้น หากมีการจัดการและควบคุมทางด้านอุณหภูมิที่ดี คือจัดให้มีพื้นที่ร้อนและพื้นเย็นในสถานที่เลี้ยง เพื่อให้สัตว์สามารถเลือกใช้พื้นที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมตรงตามความต้องการของตัวสัตว์ ย่อมมีผลต่อการส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติ มีการกิน การเผาผลาญพลังงานตามปกติ และระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานอย่างสมบูรณ์ ทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปกติ ซึ่งจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสัตว์ที่เลี้ยงแบบปราศจากการควบคุมด้านอุณภูมิ
จากข้อมูลและข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นที่ได้นำเสนอมา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยพื้นฐานที่ส่งเสริมให้สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินในพื้นที่เลี้ยงมีสุขภาพที่ดี และเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงควรจัดหา จัดเตรียม ไม่ควรปล่อยปละละเลย อุณหภูมิและความชื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับแต่ละชนิดพันธุ์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่เป็นไปตามปกติของฤดูการธรรมชาติ ย่อมส่งผลถึงคุณภาพชีวิต และสุขภาพของสัตว์ที่เราเลี้ยง โน้มนำให้เกิดโรคได้หลายชนิด ในฐานะผู้เลี้ยงควรมีการจัดการดูแล และเตรียมการให้พร้อมรับกับปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีปราศจาคโรคภัยไข้เจ็บของสัตว์ที่เรารักครับ
0 Comments for “เตือนภัย ลานินญา (Lanina)”